เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [1. มหาวรรค] 5. วิโมกขกถา นิทเทส
ชื่อว่าวิโมกข์ เพราะภิกษุผู้ไม่มีความหมายรู้ว่ารูปภายในเห็นรูปภายนอก
เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ไม่มนสิการถึงนิมิตสีเขียวในภายใน จึงไม่ได้
นีลสัญญา น้อมจิตไปในนิมิตสีเขียวภายนอก ย่อมได้นีลสัญญา เธอทำ
นิมิตนั้นให้เป็นอันถือไว้ดีแล้ว ทรงจำไว้ดีแล้ว กำหนดไว้ดีแล้ว ครั้นแล้วปฏิบัติ เจริญ
ทำให้มาก เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า “เราไม่มีความหมายรู้ว่าเป็นรูปในภายใน นิมิต
สีเขียวภายนอกนี้เป็นรูป” เธอมีความหมายรู้ว่าเป็นรูป
ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ไม่มนสิการถึงนิมิตสีเหลือง ฯลฯ นิมิตสีแดง ฯลฯ
นิมิตสีขาวในภายใน ย่อมไม่ได้โอทาตสัญญา น้อมจิตไปในนิมิตสีขาวในภายนอก
ย่อมได้โอทาตสัญญา เธอทำนิมิตนั้นให้เป็นอันถือไว้ดีแล้ว ทรงจำไว้ดีแล้ว
กำหนดไว้ดีแล้ว ครั้นแล้วปฏิบัติ เจริญ ทำให้มาก เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า “ไม่มี
รูปในภายใน นิมิตสีขาวในภายนอกนี้เป็นรูป” เธอมีความหมายรู้ว่าเป็นรูป ชื่อว่า
วิโมกข์ เพราะภิกษุผู้ไม่มีความหมายรู้ว่ารูปภายในเห็นรูปภายนอกอย่างนี้ (38)
ชื่อว่าวิโมกข์ เพราะภิกษุเป็นผู้น้อมไปในอารมณ์ว่างามเท่านั้น เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ 1 ฯลฯ ทิศที่ 2 ฯลฯ
ทิศที่ 3 ฯลฯ ทิศที่ 4 ฯลฯ ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลก
ทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต
ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ เพราะเป็นผู้เจริญเมตตา สัตว์ทั้งหลายไม่เป็นที่
เกลียดชัง
มีกรุณาจิต ฯลฯ เพราะเป็นผู้เจริญกรุณา สัตว์ทั้งหลายไม่เป็นที่เกลียดชัง
มีมุทิตาจิต ฯลฯ เพราะเป็นผู้เจริญมุทิตา สัตว์ทั้งหลายไม่เป็นที่เกลียดชัง
มีอุเบกขาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ 1 ฯลฯ เพราะเป็นผู้เจริญอุเบกขา สัตว์ทั้งหลาย
ไม่เป็นที่เกลียดชัง
ชื่อว่าวิโมกข์ เพราะภิกษุเป็นผู้น้อมไปในอารมณ์ว่างามเท่านั้นอย่างนี้ (39)


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :352 }